สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
พบกันอีกแล้วนะครับในช่วงเวลาแห่งความชุ่มฉ่ำ ฤดูฝนก็มาถึงแล้ว
ท่านผู้รักการเดินทางทั้งหลายวางแผนไปเที่ยวไหนกันบ้างครับ ช่วงนี้จะลงใต้เที่ยวทะเลก็เริ่มมีมรสุมแล้ว
จะขึ้นเหนือขับรถฝ่าสายฝนหนทางก็ไม่ค่อยจะสะดวกนัก ในโอกาสนี้ผมจึงอยากแนะนำรายการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกรายการหนึ่ง
ที่จะจัดขั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม กลางฤดูฝนนี้เองครับ งานที่่ว่านี้คือ
"งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี"
หรือ
Ubon Ratchathani Candle Festival งานนี้เป็นอีกงานประเพณีหนึ่ง
ที่แสดงออกถึงการยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดของชาวเมืองอุบลฯ
แล้วยังเป็นงานที่แสดงออกถึงวิวัฒนาการด้านศิลปะของสกุลช่างเมืองอุบลฯ
ซึ่งผู้เข้าชมงานจะได้ชมขบวนแห่เทียนพรรษา ซึ่งต้นเทียนที่ได้รับการตกแต่งอย่างสมบูรณ์
สวยงาม ประกอบด้วยขบวนการแสดง การละเล่น การฟ้อนรำ การบรรเลงดนตรี
ที่น่าประทับใจ งานประเพณีแห่เทียนอุบลราชธานีนี้ จะมีการจัดขึ้นตั้งแต่
วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2551 เรียกว่าตลอดเดือนกรกฎาคมก็จะมีกิจกรรมต่างๆ
หมุนเวียนกันไป โดยรายละเอียดของงานมีดังนี้ครับ
กำหนดและสถานที่จัดงาน
จัดขึ้นในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี
กิจกรรมหลักๆ จะจัดขึ้นบริเวณทุ่งศรีเมือง ส่วนกิจกรรมพิเศษอื่นๆจะจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ
ภายในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
ข้อแนะนำในการเยี่ยมเยียน
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี นอกจากจะเป็นงานที่แสดงออกถึงการยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดของชาวเมืองอุบลฯ
แล้วยังเป็นงานที่แสดงออกถึงวิวัฒนาการด้านศิลปะของสกุลช่างเมืองอุบลฯอีกด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายแขนงและผลิตงานด้านศิลปะอย่างต่อเนื่องตลาดมา
ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะร่วมสมัย งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานก่อสร้างตกแต่งโบสถ์วิหารต่างๆ
จะใช้โอกาสในช่วงเทศกาลนี้กลับมาทดสอบ ทดลอง และประลองฝีมือเชิงช่าง
ผ่านต้นเทียนพรรษา ดังนั้นผู้ที่มาร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีจึงสามารถชื่นชมและศึกษากิจกรรมของงานทั้งในด้านการสืบสานจารีตประเพณีพื้นเมือง
และในด้านศิลปะการตกแต่งเทียน กิจกรรมภายในงานที่สำคัญๆ ได้แก่
เยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน
การไปเยี่ยมเยียนชุมชนหรืคุ้มวัดต่างๆ ในช่วงที่กำลังเตรียมการตกแต่งต้นเทียน
คือในช่วงประมาณ 15 วัน ก่อนวันแห่นั้นนอกจากผู้มาเยือนจะได้ศึกษากรรมวิธีและขั้นตอนการตกแต่งเทียนอันเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นแล้ว
ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา
ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญของชาวอุบลราชธานี
การเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชาที่วัดงามในเมืองอุบลฯ
การเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา จะจัดขึ้นในช่วงค่ำ ตามวัดต่างๆ
โดยทั่วไป กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะได้ชื่นชมเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมพื้นเมือง อันงดงามตามวัดต่างๆ
ในอีกมิติหนึ่ง
การตั้งแสดงต้นเทียนรอบทุ่งศรีเมือง
การแสดงงานศิลปะตกแต่งเทียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ในช่วงค่ำของวันอาสาฬหบูชา จะเป็นเวลาที่ต้นเทียนพรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ
กว่า 30 ต้น จะถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งไว้ ณ บริเวณถนนรอบๆ ทุ่งศรีเมือง
เพื่อเตรียมการเข้าร่วมขบวนแห่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ต้นเทียนได้รับการตกแต่งอย่างสมบูรณ์
ประกอบกับสถานที่ตั้งจะถูกจัดเตรียมไว้อย่างดี เช่น การเตรียมแสงไฟไว้สาดส่องต้นเทียน
ตลอดจนการประดับประดาบริเวณงานอย่างเป็นระเบียบ ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
ในการชื่นชมศิลปะการตกแต่งต้นเทียนอย่างละเอียดลออ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
และอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมในช่วงนี้เป็นการแสดงศิลปะตกแต่งเทียนที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย
กิจกรรมขบวนแห่เทียนพรรษา
จะจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น คือวันเข้าพรรษา ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00
น. เป็นต้นไป โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนที่ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด
คือถนนอุปราชและถนนชยางกูร เป็นระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จึงสลายขบวน
รูปแบบของการจัดขบวนประกอบด้วยขบวนเทียนหลวงพระราชทาน ขบวนต้นเทียนของคุ้มวัดต่างๆ
ซึ่งแต่ละขบวนจะประกอบด้วยขบวนการแสดง การละเล่น การฟ้อนรำ การบรรเลงดนตรี
ในรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง
กิจกรรมอื่นๆ
นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว คณะกรรมการจัดงานยังได้จัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ
อีกมากมาย เช่น การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การจัดงานพาแลง
และการประกวดเทพธิดาเทียนพรรษา เป็นต้น