Thailand Grand Invitation 2006
เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 (The Sixtieth Anniversary Celebrations of His Majesty's Accession to the Throne) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดโครงการ Thailand Grand Invitation 2006 โดยมีรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีและปวงชนชาวไทยทั้งภาครัฐและเอกชน เป็น6เจ้าภาพ ในการเชิญชวนชาวไทยในต่างประเทศและชาวต่างชาติมาร่วมเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความ พร้อมของประเทศไทย ในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
ททท.ร่วมมือกับแต่ละจังหวัด หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ คัดสรรสินค้า บริการ และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่นมานำเสนอและประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึง นักท่องเที่ยวในตลาดหลักทั่วโลกกว่า 110 ล้านครัวเรือนทั่วโลกและคนไทย 60 ล้านคน ทั่วประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาสัมผัสการบริการแบบไทย ในมาตรฐาน สากลตลอด 1 ปี ของโครงการ โดยมีแนวคิดในการนำเสนอแบ่งออกเป็น Theme ต่างๆ
ลำดับ : ๑
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : เมืองแห่งชา ดอยวาวี ดอยช้าง ดอยแม่สลอง
Theme : เกษตร
จังหวัด : เชียงราย
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว : สถานที่ที่พัฒนาจากการทำไร่เลื่อนลอยมาสู่แหล่งปลูกชาจีนคุณภาพของภาคเหนือโดยชาวไทยภูเขาในจังหวัดเชียงราย ที่สามารถสัมผัสถึงบรรยากาศของเมืองที่กรุ่นกลิ่นไอแห่งชาชั้นดี พร้อมดื่มด่ำกับรสชาติของชาชั้นเลิศ เพลิดเพลินไปกับการแสดงพื้นเมืองของชาวเขา


ลำดับ : ๒
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ฟาร์มโชคชัย
Theme : เกษตร
จังหวัด : นครราชสีมา
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
พักผ่อนในวันสบายๆ กับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุณต้องลองที่ฟาร์มโชคชัย มาตรฐานฟาร์มโคนมที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากกรุงเทพฯ เพียง๑๕๙ กม. ให้คุณสนุกไปกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร(Agro Tourism) ที่ได้รับรางวัลการันตี Thailand Tourism Awards ปี ๒๕๔๕ ทดลองรีดนมวัวด้วยมือคุณเอง โชว์การแสดงคาวบอย และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย สนุกสนานและเรียนรู้ทุกขั้นตอนการทำ Ice Cream Workshop ด้วยตัวเอง สะดวกสบายกับที่พักอิงธรรมชาติพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก สไตล์บูติกแค้มปิ้ง ในฟาร์มโชคชัย แคมป์ ด้วยตัวคุณเอง...ที่ฟาร์มโชคชัย

ลำดับ : ๓
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : เชียงใหม่
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
สถานีวิจัยพืชเมืองหนาวอีกแห่งหนึ่งของโครงการหลวง ตั้งอยู่ในบริเวณดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งวิจัย รวบรวมพันธุ์พืชและผลิตไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาชนิด อีกทั้งยังมีพืชผัก สมุนไพร และไม้ผลขนาดเล็ก ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตรา "ดอยคำ" รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาเทร้าต์สายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจได้แก่ การทำนาข้าวขั้นบันไดของเผ่ากะเหรี่ยง ประเพณีกินวอของชาวเผ่าม้งบ้านขุนกลาง และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมความงามธรรมชาติรอบๆ พื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมดูนกและชมดาว
ลำดับ : ๔
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : เชียงใหม่
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
สถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อดำเนินงานวิจัยพันธุ์พืชเมืองหนาวที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง ส่งเสริมแก่เกษตรชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย จากสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ทำให้ดอยอ่างขางมีอากาศหนาวเย็นตลอดปีและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมแปลงวิจัยผัก ผลไม้และดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนกซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อม และลานกางเต๊นท์ พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการ
ลำดับ : ๕
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : เชียงใหม่
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริจัดตั้งบริเวณป่าขุนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ ให้เป็นศูนย์การศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยศึกษาพัฒนาป่าไม้ ๓ อย่าง ๓ วิธี เพื่อประโยชน์ ๔ อย่างคือ มีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ ๔ และพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ และนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังพระราชดำริว่า "...ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต..."
ลำดับ : ๖
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : เพชรบุรี
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริจัดตั้งบริเวณป่าขุนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ พื้นที่ประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ ให้เป็นศูนย์การศึกษาทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยศึกษาพัฒนาป่าไม้ ๓ อย่าง ๓ วิธี เพื่อประโยชน์ ๔ อย่างคือ มีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ ๔ และพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ และนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังพระราชดำริว่า "...ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต..."
ลำดับ : ๗
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ และเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาตามแนวเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriclture) มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน ๑,๘๙๕ ไร่ ดำเนินการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเน้นการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของดินและน้ำให้มีความสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการฟื้นฟูสภาพของดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการแก้ไขในลักษณะผสมผสานของหลายๆ หน่วยงานแบบบูรณาการ ซึ่งราษฎรสามารถนำไปประกอบอาชีพเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงสมบูรณ์ต่อไป
ลำดับ : ๘
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : สกลนคร
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งเน้นให้เป็นสถานศึกษาทดลองการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น และนำออกเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร กิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครอบคลุมทุกด้านที่มีผลต่อการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ ด้วยเดชะบารมี พระปรีชาสามารถที่ทรงเห็นการณ์ไกล และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมุ่งมั่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรที่ยากไร้ในชนบท ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้อำนวยประโยชน์แก่ราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้พัฒนาผืนดิน พัฒนาอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพเสริม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านความรู้สุขภาพอนามัย
ลำดับ : ๙
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : จันทบุรี
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ มีพระราชดำริ ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี และได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าว เป็นทุนริเริ่มดำเนินการ ศูนย์ศึกษาฯ ดำเนินการศึกษา สาธิตและการพัฒนาเขตที่ดินชายทะเลโดยมีวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ในรูปของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต (Living Museum) รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบของนิเวศทัศนา (Eco-tourism)
ลำดับ : ๑๐
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเป็นศูนย์สาธิตและจำหน่ายศิลปหัตถกรรม งานฝีมือที่มีคุณภาพมาตรฐานจากทั่วทุกภาคของไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อฝึกอาชีพเกี่ยวกับงานศิลปหัตถกรรมต่าง ๆให้แก่เกษตรกร อาทิ การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช การแกะสลัก การจักสาน การทำตุ๊กตา การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำเครื่องเรือน การทอผ้า ผลิตภัณฑ์จากผ้า การย้อมสี ช่างเชื่อม และเครื่องเคลือบดินเผา ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะจัดจำหน่ายภายในศูนย์และส่งไปจำหน่ายที่ร้านจิตรลดาแต่ละสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ภายในศูนย์ฯยังมี
1. หมู่บ้านศิลปาชีพ
2. ศาลาพระมิ่งขวัญ
3. สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำวังปลา
4. สวนนกบางไทร
และการจัดกิจกรรมงานเทศกาลประเพณีตลอดปี
ลำดับ : ๑๑
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
Theme : โครงการในพระราชดำริ
จังหวัด : ลพบุรี สระบุรี
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสายสำคัญที่เอื้อประโยชน์มหาศาลแก่ชาวจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ทั้งประโยชน์จากแม่น้ำป่าสักด้านเกษตรกรรมการประมง แต่บางช่วงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและบางเวลาพื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักประสบภาวะแห้งแล้ง ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลประกอบด้วยความห่วงใยพสกนิการ และพระอัจฉริยภาพที่ล้ำลึก พระมาหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๙ ก.พ. ๒๕๓๒ ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่ซึ่งเคยแห้งแล้ง สลับกับภาวะน้ำท่วม อันส่งผลให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบากทุกข์ยาก บัดนี้ ได้มีเขื่อนดินขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูงกว่า ๓๑ ม. และยาวเกือบ ๕,๐๐๐ ม. เป็นแนวกั้นน้ำอยู่ในแม่น้ำป่าสัก พร้อมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีความจุน้ำได้สูงสุด ๙๖๐ ล้าน ลบ.ม. โดยมีอาคารพิพิธภัณฑ์ลุ่มแม่น้ำป่าสัก เป็นสถานที่จักแสดงสภาพชีวิตผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักแห่งนี้ สำหรับเตือนใจคนรุ่นหลังมิให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
ลำดับ : ๑๒
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
Theme : แหล่งธรรมชาติ
จังหวัด : พังงา
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
แหล่งอนุบาลและแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตแห่งผืนป่าชายเลนภาคใต้ ที่ยังความสมบูรณ์ ความงดงาม และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาตาปู ที่ควรค่ากับการสัมผัส และเรียนรู้ธรรมชาติที่แตกต่าง
ลำดับ : ๑๓
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
Theme : แหล่งธรรมชาติ
จังหวัด : เชียงใหม่
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
แหล่งแห่งความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติของไทย หรือความแตกต่างของพื้นที่เดียวกันในวาระที่ต่างกัน ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เขียวขจี และร่มเย็นของผืนแผ่นดินแห่งนี้ ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยพักพิง ของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ โดยเฉพาะนกนานาชนิด พื้นที่แห่งนี้จึงเสมือนความยั่งยืนของทรัพย์ธรรมชาติของประเทศ
ลำดับ : ๑๔
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
Theme : แหล่งธรรมชาติ
จังหวัด : พิษณุโลก
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
แหล่งที่ในอดีตเคยเป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้ แต่ในปัจจุบันคงใช้แต่ความสงบ ความร่มรื่น ความงดงามแห่งธรรมชาติ ที่แอบแฝงเอกลักษณ์เฉพาะทางธรณีวิทยาให้ผู้เยี่ยมเยือนได้สัมผัส และเรียนรู้ ทั้งธรรมชาติและประวัติศาสตร์
ลำดับ : ๑๕
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
Theme : แหล่งธรรมชาติ
จังหวัด : พิษณุโลก
แนวคิดการเสนอสินค้าการท่องเที่ยว :
แหล่งผืนป่าซาวันนาแห่งเดียวของภาคเหนือ ที่แอบแฝงเสน่ห์แห่งป่า ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ความแตกต่างแห่งพืชพรรณที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในป่าเมืองเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และความหลากหลายทางชีวภาพ